Hajime Botnet กลับมาอีกครั้ง พุ่งเป้า MikroTik Routers
ทีมนักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยจาก Netlab ของ Qihoo 360 ออกมาแจ้งเตือนถึง Hajime IoT Botnet สายพันธุ์ใหม่ ที่เริ่มแพร่ระบาดอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าเปลี่ยน MikroTik Routers เป็นกองทัพ Botnet แนะผู้ใช้ Router ยี่ห้อดังกล่าวอัปเดตแพตช์ล่าสุดโดยเร็ว
นักวิจัยจาก Netlab เริ่มค้นพบการแพร่ระบาดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่าค้นพบการสแกนแปลกๆ บนพอร์ต 8291 ของ Honeypot ที่ตนเองตั้งไว้ ซึ่งการสแกนดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องไม่หยุด และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ดึงดูดความสนใจของนักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดย Netlab ตรวจสอบพบว่า Hajime Botnet ได้ดำเนินการสแกนมากถึง 860,000 ครั้งในช่วงเวลาเพียง 3 วันหลังเริ่มแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบตัวเลขแน่ชัดว่ามี MikroTik Router ติดมัลแวร์ไปแล้วเท่าไหร่
จากการตรวจสอบพบว่า Hajime Botnet สายพันธุ์ใหม่นี้ใช้การเจาะระบบผ่านช่องโหว่ “Chimay Red” ซึ่งส่งผลกระทบบน MikroTik RouterOS เฟิร์มแวร์เวอร์ชัน 6.38.4 และก่อนหน้านั้น เป็นช่องโหว่ที่ช่วยให้แฮ็กเกอร์สามารถลอบรันโค้ดแปลกปลอมและเข้าควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกลได้ อย่างไรก็ตาม ทาง MikroTik ก็ได้ออกแพตช์อุดช่องโหว่ดังกล่าวในเวอร์ชัน 6.38.5 เมื่อปีที่ผ่านมา
เมื่อทราบถึงการแพร่ระบาดของ Hajime Botnet ทาง MikroTik ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทวีตแนะนำให้ผู้ใช้ตั้งค่า Firewall สำหรับกรองทราฟฟิกที่วิ่งเข้ามายังพอร์ต 80/8291 (Web/Winbox) รวมไปถึงอัปเกรด RouterOS เป็นเวอร์ชัน 6.41.3 ล่าสุด (หรือเวอร์ชันหลัง 6.38.5)
สำหรับวิธีเข้าควบคุมอุปกรณ์นั้น Hajime Botnet จะเริ่มต้นด้วยการสแกนอินเทอร์เน็ตเพื่อหาว่ามีอุปกรณ์ใดเปิดพอร์ต 8291 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น MikroTik Router อยู่บ้าง จากนั้นพยายามเจาะระบบผ่านช่องโหว่ที่เคยถูกค้นพบแล้วบนพอร์ต 80, 81, 82, 8080, 8081, 8082, 8089, 8181 และ 8880 เมื่อแพร่กระจายเข้าไปได้สำเร็จ Hajime Botnet ก็จะสั่งการให้อุปกรณ์นั้นๆ ดำเนินการสแกนเพื่อค้นหาเหยื่อรายถัดไป
ถึงแม้ว่าจะแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่ในอดีต Hajime Botnet ไม่เคยถูกใช้เพื่อโจมตีแบบ DDoS เลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งสร้างความฉงนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยเป็นอย่างมาก
ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเชิงเทคนิคและ IoC ได้ที่ https://blog.netlab.360.com/quick-summary-port-8291-scan-en/
Comments
Post a Comment