เตือนช่องโหว่ 13 รายการบน FreeRTOS เสี่ยงถูกเข้าควบคุมระบบ IoT ได้

Ori Karliner นักวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยจาก Zimperium Security Labs (zLabs) ออกมาเปิดเผยถึงช่องโหว่บน FreeRTOS และเวอร์ชันปรับปรุงของ Amazon และ WHIS รวมทั้งสิ้น 13 รายการ เสี่ยงถูกแฮ็กเกอร์ล่มระบบ ขโมยข้อมูล หรือลอบรันโค้ดแปลกปลอมจากระยะไกลได้ แนะนำให้ผู้ดูแลระบบรีบอัปเดตแพตช์โดยเร็ว
FreeRTOS เป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการแบบเรียลไทม์ (Real-time Operating System) แบบ Open-source ยอดนิยมสำหรับ Embedded Systems ซึ่งถูกนำไปใช้งานบน Microcontrollers กว่า 40 รายการ สำหรับใช้ในระบบ IoT, อากาศยาน, การแพทย์, อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ และอื่นๆ โดยระบบปฏิบัติการดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อรันแอปพลิเคชันที่ต้องการความเที่ยงตรงและแม่นยำเรื่องเวลา เช่น เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker)
ปัจจุบันนี้ โปรเจกต์ FreeRTOS ถูกบริหารจัดการโดย Amazon ซึ่งก็ได้นำมาต่อยอดโดยการอัปเกรด Kernel และองค์ประกอบบางส่วน เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการเชื่อมต่ออย่างมั่นคงปลอดภัย การอัปเกรดแบบไร้สาย การทำ Code Signing และการรองรับ AWS Cloud กลายเป็น Amazon FreeRTOS (a:FreeRTOS) นอกจากนี้ WITTENSTEIN high integrity systems (WHIS) ก็ได้นำ FreeRTOS มาพัฒนาต่อยอดด้วยเช่นเดียวกัน คือ WHIS OpenRTOS สำหรับเชิงพาณิชย์และ SafeRTOS ซึ่งเป็น Safety-oriented RTOS สำหรับใช้ในอุปกรณ์ที่ต้องการความปลอดภัยสูง
สำหรับช่องโหว่บน FreeRTOS ที่ Karliner ค้นพบนั้นมีทั้งสิ้น 13 รายการ ซึ่งส่งผลกระทบบน FreeRTOS และระบบที่พัฒนาโดย Amazon และ WHIS ช่องโหว่เหล่านี้ช่วยให้แฮ็กเกอร์สามารถล่มระบบ ขโมยข้อมูลจากหน่วยความจำ และโจมตีแบบ Remote Code Execution บนเครื่องเป้าหมายได้ เรียกได้ว่าสามารถเข้าควบคุมอุปกรณ์ได้ตามต้องการ อย่างไรก็ตาม Karliner ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดของช่องโหว่เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้หลายๆ บริษัททำการอัปเดตแพตช์
Karliner ได้รายงานช่องโหว่นี้ไปยัง Amazon ซึ่งก็ได้ออกแพตช์ Amazon FreeRTOS เวอร์ชัน 1.3.2 เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว (เวอร์ชันล่าสุดคือ 1.4.2) ในขณะที่ WHIS ก็ออกแพตช์เพื่อแก้ปัญหาแล้วเช่นเดียวกัน

Comments

Popular posts from this blog

นักวิจัยปล่อยโค้ดที่ทำให้เกิดจอฟ้ากับเครื่อง Windows จำนวนมากบน GitHub

ผู้เชี่ยวชาญพบมัลแวร์ใช้ Windows BITS เพื่อติดต่อเซิร์ฟเวอร์ควบคุม

รู้สาเหตุแล้ว ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เน็ตช้าเพราะสายเคเบิลใต้ทะเลขาด