ผู้บริโภคในแถบ APAC ต้องการใช้อุปกรณ์ IoT แต่ยังกังวลเรื่องข้อมูลรั่ว
Internet Society ออกรายงานผลสำรวจผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ล่าสุด พบว่าส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ใช้งานอย่างน้อย 1 ชิ้น และมีแผนที่จะซื้อเพิ่มในอนาคต แต่ก็มี 70 – 80% ที่กลัวข้อมูลส่วนบุคคลของตนจะรั่วไหลสู่สาธารณะ หรือดักฟังข้อมูลโดยไม่รู้ตัว
ผลสำรวจนี้รวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้ออนไลน์ 1,000 คนจาก 22 ตลาดในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจัดทำขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 5 โดยมีสถิติที่น่าใจ ดังนี้
- 7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีอุปกรณ์ IoT อย่างน้อย 1 เครื่อง และมีเกือบครึ่งหนึ่งที่มีมากกว่า 3
- 75% ระบุว่าพวกเขาวางแผนที่จะซื้ออุปกรณ์ IoT เพิ่มในอีก 12 เดือนหลังจากนี้ เช่น ทีวีอัจฉริยะ, ตู้เย็นอัจฉริยะ, อุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพ, VR Headset และผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Google Home เป็นต้น
- ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลเป็นประเด็นที่ผู้ตอบแบบสำรวจมีความวิตกกังวลมากที่สุด ประมาณ 60% ของผู้ที่ไม่ใช้อุปกรณ์ IoT มีสาเหตุมาจากความกลัวเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
- 90% ระบุว่าพวกเขาไม่เชื่อมั่นในผู้ผลิตอุปกรณ์ IoT และ ISP ในการคุ้มครองข้อมูลของพวกเขา
- 2 ใน 3 ระบุว่าความมั่นคงปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้ออุปกรณ์ IoT ตามมาด้วยฟีเจอร์ ราคา และยี่ห้อ
- 81% ยังคงกังวลว่าข้อมูลของตนจะรั่วไหลสู่สาธารณะ ในขณะที่ 73% กังวลว่าแฮ็กเกอร์จะเข้ายึดอุปกรณ์ของตนแล้วเอาไปก่ออาชญากรรม
- 71% กลัวว่าพวกเขาจะถูกจับตาดูหรือดักฟังข้อมูลโดยไม่รู้ตัว
- 84% อยากทราบว่าอุปกรณ์เก็บข้อมูลอะไรบ้างและอยากให้มีฟีเจอร์ลบข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บบนอุปกรณ์
ถึงแม้ว่าความมั่นคงปลอดภัยจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนกังวล แต่กลับมีเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เปลี่ยนรหัสผ่านอุปกรณ์ของตนใหม่โดยไม่ใช้รหัสที่มาจากโรงงาน และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่อ่าน Terms and Conditions ด้าน Privacy
“มีความต้องการที่จะทำให้มั่นใจว่าผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ IoT ปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนบุคคลของผู้บริโภค ปัจจุบันนี้ สิ่งที่พวกเขาทำให้นั้นไม่ได้เพียงพอต่อความกังวลของเจ้าของอุปกรณ์ IoT ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเลย” — Rajnesh Singh ผู้อำนวยการ Internet Society, APAC กล่าว
Comments
Post a Comment