ปีแห่งการขุดเหรียญดิจิทัล มัลแวร์ Cryptominers ยอดพุ่ง 4,000%

ในขณะที่จำนวน Ransomware ลดลงอย่างเห็นได้ชัดใน 2018 แต่มัลแวร์ประเภท Cryptocurrency Miners กลับพุ่งสูงขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ รายงานภัยคุกคามประจำปี 2018 ฉบับล่าสุดจาก McAfee ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ค้นพบตัวอย่างมัลแวร์ Cryptominer ใหม่ราว 4,000,000 ตัวอย่าง ซึ่งเพิ่มจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 4,000%
McAfee ระบุว่า ไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 มีมัลแวร์ประเภท Cryptocurrency Miners มากถึง 4,000,000 ตัวอย่าง ซึ่งเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 1,500,000 หรือคิดเป็นประมาณ 55% ในขณะที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2017 ถึง 4,467%
ปี 2017 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่ง Ransomware โดย WannaCry และ NotPetya สร้างความเสียหายแก่ธุรกิจระดับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่จำนวน Cryptocurrency Miners มีไม่ถึง 250,000 อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวเข้าสู่ไตรมาสแรกของปี 2018 พบว่ามี Cryptocurrency Miners ใหม่ถึง 2,500,000 ตัวอย่าง
ถึงแม้ว่า Cryptocurrency Miners จะมีอันตรายน้อยกว่า Ransomware แต่มัลแวร์ประเภทนี้ก็สามารถขัดขวางการดำเนินธุรกิจและสร้างความเสียหายแก่ระบบคอมพิวเตอร์ได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์โจมตี Cryptojacking ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปิดการทำงานของระบบเครือข่ายทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง CPU ทำงานหนักมากจนเกินไป
อีกหนึ่งตัวอย่างคือ PowerGhost ซึ่งเป็น Cryptocurrency Miner ที่สามารถปิดการใช้งาน Windows Defender (โปรแกรม Antivirus บน Windows) ส่งผลให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เกิดความเสี่ยงที่จะถูกมัลแวร์อื่นโจมตีได้
McAfee ยังระบุอีกว่า จำนวนมัลแวร์ Cryptocurrency Miners นั้นเพิ่มขึ้นตามค่าเงิน Bitcoin ที่พุ่งทะยานในปี 2017 จากประมาณ $996 ไปจบที่มากกว่า $13,000 เมื่อสิ้นปี ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ค่าเงิน Bitcoin จะลดเหลือ $3,500 เช่นเดียวกับค่าเงินดิจิทัลอื่นๆ แต่แฮ็กเกอร์ก็ยังคงหาวิธีการใหม่เพื่อทำเงินจากช่องโหว่และจุดอ่อนของมนุษย์ เช่น เจาะช่องโหว่เราท์เตอร์ MikroTik เพื่อเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือขุดเหรียญดิจิทัลระดับ IoT เป็นต้น
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มจาก McAfee ได้ที่: https://www.mcafee.com/enterprise/en-us/assets/reports/rp-quarterly-threats-dec-2018.pdf

Comments

Popular posts from this blog

นักวิจัยปล่อยโค้ดที่ทำให้เกิดจอฟ้ากับเครื่อง Windows จำนวนมากบน GitHub

ผู้เชี่ยวชาญพบมัลแวร์ใช้ Windows BITS เพื่อติดต่อเซิร์ฟเวอร์ควบคุม

รู้สาเหตุแล้ว ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เน็ตช้าเพราะสายเคเบิลใต้ทะเลขาด