จีนแฮ็กบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ 8 แห่ง หลังซุ่มโจมตีมานานนับปี

สำนักข่าว Reuters ออกรายงาน ระบุกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่ทำงานให้ Ministry of State Security ของจีนประสบความสำเร็จในการเจาะระบบเครือข่ายของบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น HPE, IBM, Fujitsu, NTT Data และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 8 แห่ง เพื่อขโมยข้อมูลความลับเชิงพาณิชย์จากลูกค้าของบริษัทเหล่านั้น เรียกปฏิบัติการนี้ว่า Cloud Hopper
ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้มีการฟ้องร้องทางการจีนเกี่ยวกับปฏิบัติการอันแสนแยบยลเพื่อขโมยทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัท IT ยักษ์ใหญ่หลายแห่งเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ณ เวลานั้น Reuters ได้รายงานมีผู้ตกเป็นเหยื่อ คือ HPE และ IBM แต่หลังจากตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่ามีอีก 6 บริษัทที่ถูกโจมตีด้วยเช่นกัน ได้แก่ Fujitsu, Tata Consultancy Services, NTT Data, Dimension Data, Computer Sciences Corporation และ DXC Technology
สำหรับลูกค้าของบริษัท IT เหล่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการ Cloud Hopper มีมากกว่า 10 บริษัท เช่น Ericsson ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสวีเดน, Huntington Ingalls Industries บริษัทต่อเรือให้กองทัพเรือสหรัฐฯ และ Sabre ระบบจองตั๋วการท่องเที่ยว เป็นต้น
HPE และ DXC Technology ได้ออกมายอมรับแล้วว่าบริษัทฯ ถูกแฮ็กจริง และทางบริษัทฯ ก็ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อรับมือกับการโจมตีและปกป้องข้อมูลของลูกค้า รวมไปถึงมีการเพิ่มมาตรการตอบโต้ด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ทันสมัย ในขณะที่ NTT Data, Dimension Data, Tata Consultancy Services, Fujitsu และ IBM ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับปฏิบัติการดังกล่าว เพียงแค่ระบุว่า ไม่พบหลักฐานใดๆ ว่าข้อมูลสำคัญของบริษัทถูกขโมยออกไป
ทางฝั่งรัฐบาลจีนอีกก็ได้ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการปฏิบัติการแฮ็กเหล่านี้เรื่อยมา โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมายืนยันหนักแน่นกับ Reuters ว่า รัฐบาลจีนไม่เห็นด้วยกับการจารกรรมไซเบอร์ และไม่เคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนผู้ใดในการขโมยข้อมูลความลับเชิงพาณิชย์
Reuters ได้ออกรายงานการสืบสวนอย่างละเอียด ผู้ที่สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://www.reuters.com/investigates/special-report/china-cyber-cloudhopper/

Comments

Popular posts from this blog

นักวิจัยปล่อยโค้ดที่ทำให้เกิดจอฟ้ากับเครื่อง Windows จำนวนมากบน GitHub

ผู้เชี่ยวชาญพบมัลแวร์ใช้ Windows BITS เพื่อติดต่อเซิร์ฟเวอร์ควบคุม

รู้สาเหตุแล้ว ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เน็ตช้าเพราะสายเคเบิลใต้ทะเลขาด